ครองราชย์643

เข้าสู่หน้าหลัก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ครบ 64 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน2553

อาศิรวาท กราบบาท องค์เหนือเกล้า

ข้าพระพุทธเจ้า นบพระองค์ ธ ทรงศรี

เหนือสิ่งใด ในหล้า ทั้งธาตรี

น้อมภักดี ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

เนื่องในวโรกาส 64 ปี ทรงครองราชย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ครบ 64 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน2553 นี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ผมขอนำเสนอความเป็นมาของ วันสำคัญดังกล่าวและอัญเชิญพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่พระราชทานในวัน ดังกล่าวมาให้ท่านผู้อ่านได้เรียนรู้และน้อมนำไปปฏิบัติซึ่งจะเป็นสิริมงคล ยิ่งแก่พสกนิกรทุกท่านดังนี้ครับ

 

วันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน รัฐสภาได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม คือมหาวิทยาลัยโลซาน แต่เปลี่ยนสาขาจากวิศวกรรมศาสตร์ ไปเป็น นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับตำแหน่งประมุขของประเทศ

 

การตัดสินพระทัยรับตำแหน่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศไทยและคนไทยคลายความโศกเศร้า จากการที่ต้องสูญเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศไทยได้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ที่ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะอุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง

 

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ มีพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยวัตรอันงดงาม มั่นคงในทศพิธราชธรรม นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เป็นต้นมา

 

ดังพระปฐมบรมราชโองการ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระราชทานในวันฉลองสิริราชสมบัติ ดังนี้

 

พระปฐมบรมราชโองการพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ความว่า

 

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติตามราชธรรม 10 ประการ หรือที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม คือ ธรรม 10 ประการของพระราชาได้แก่ ทาน (การให้) ศีล (ความประพฤติดีงาม) ปริจาคะ (เสียสละ) อาชชวะ (ซื่อตรงสุจริต จริงใจ) มัททวะ (สุภาพอ่อนโยน)ตปะ (ความเพียร) อักโกธะ (ความไม่โกรธ)อวิหิงสา (การไม่เบียดเบียน) ขันติ (ความอดทน) และอวิโรธนะ (ความยุติธรรม) เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรอย่างแท้จริง เป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งพสกนิกรชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลก

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีและการทำ หน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนให้ร่วมกันสร้างชาติบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น เพื่อความมั่นคง ยั่งยืนของประเทศไทย โดยได้พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคี ช่วยกันรักษาและปกครองบ้านเมืองแก่พสกนิกรชาวไทยเสมอมา ซึ่งผมขออัญเชิญมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

 

พระบรมราโชวาทในพิธีตรวจพลสวนสนามในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่3 ธันวาคม 2504 ความตอนหนึ่งว่า“…ทุกๆ คนในชาติย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ถ้าแต่ละคนปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เป็นผลดีที่สุดที่จะกระทำได้ ด้วยความรักชาติ และมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน แล้วชาติของเราจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสืบไป …”

 

พระราชดำรัสพระราชทานแก่นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา ณ โรงแรมพลาซ่านครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2510 ความตอนหนึ่งว่า

 

“…คนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจในความเป็นไทย คือเป็นพลเมืองของชาติที่มีเอกราชมามากกว่า 700 ปี นักเรียนไทยทุกคนจะสนองคุณชาติบ้านเมืองได้ในขณะที่อยู่ต่างประเทศก็โดยการ วางตนเป็นผู้แทนที่ดีของประเทศ…”

 

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจและอาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนาม ในโอกาสงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก

 

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2514 ความตอนเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2514 ความตอนหนึ่งว่า

 

“…ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิตเลือดเนื้อและสมบัติของเราทุกคนและการดำรงรักษาชาติประเทศนั้นมิใช่ หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆฝ่าย ทุกๆ คน ที่จะต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไป โดยสอดคล้อง เกื้อกูลกัน…ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้ เพราะสถาบันต่างๆ ตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น…”

 

พระบรมราโชวาท ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2529 ความตอนหนึ่งว่า”…ความจงรักภักดีต่อชาตินั้น คือความสำนึก ตระหนักในคุณของแผ่นดินอันเป็นที่เกิด ที่อาศัย ซึ่งทำให้บุคคลเกิดความภูมิใจในชาติ กำเนิดและมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษาประเทศชาติไว้ให้เป็นอิสระมั่นคงตลอดไป …”

 

พระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ความตอนหนึ่งว่า”…น้ำใจไมตรีของประชาชนชาวไทยที่ร่วมกันแสดงออกทั่วประเทศ รวมทั้งที่พร้อมเพรียงกันมาในวันนี้ น่าปลาบปลื้มใจมาก เพราะแต่ละคนได้แสดงออกและตั้งใจมาด้วยความหวังดีจากใจจริง จึงขอขอบใจทุกๆ คน จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคน ทุกฝ่ายนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจมากขึ้น นึกถึงคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญ รุ่งเรืองสืบต่อกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง

 

ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูดทำ ด้วยความ เมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกันประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตนแก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ

 

ประการที่สามคือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกาและในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน

 

ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ ถูกต้องเที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล

 

หากความคิดจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดี ที่เจริญนี้ยังมีพร้อมมูลในกายในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่า ประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ทั้งประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้รักษาจิตใจและคุณธรรมนี้ไว้ให้เหนียวแน่น และถ่ายทอดความคิดจิตใจนี้กันต่อไปอย่าให้ขาดสาย เพื่อให้ประเทศชาติของเราดำรงยืนยงอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและในภายหน้า

 

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล จงคุ้มครองรักษาประเทศชาติไทย ให้รอดพ้นจากภัยอันตรายทุกสิ่ง และอำนวยความสุขความเจริญสวัสดีให้เกิดมีแก่ประชาชนชาวไทยทั่วกัน…”

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงมีพระจริยวัตรเปี่ยมด้วยคุณธรรมและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ทรงมีพระราชหฤทัยเอื้ออาทรห่วงใยพสกนิกรชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ด้วยทรงถือว่าทุกข์สุขของราษฎรนั้น ประดุจดังทุกข์สุขของพระองค์เอง ดังที่ทรงบันทึกไว้ เมื่อถึงกำหนดเวลาเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ความตอนหนึ่งว่า

 

“…วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2489 วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว…ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นได้เร็วขึ้นบ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่าอย่าละทิ้งประชาชน อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่าถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้…”

 

นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติจนถึงวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นว่า ทรงไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่น เพื่อบำบัดความทุกข์ยากและเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ทั้งที่อยู่ใน เมืองและชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ยากไร้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล ด้วยทรงระลึกเสมอว่า ทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของพระองค์ จึงทรงคิดค้นหาแนวทางการพัฒนาด้วยพระวิริยอุตสาหะ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วราชอาณาจักร อันเป็นที่ประจักษ์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสียสละและทรงงานเพื่อ ช่วยให้พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทรงมีพระบรมราโชวาท ตลอดจนพระราชดำรัสพระราชทานแง่คิดและแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ให้พสกนิกร ชาวไทยได้เรียนรู้และน้อมนำไปปฏิบัติในโอกาสต่างๆอย่างต่อเนื่องเสมอมา

 

เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรง มีพระพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน พสกนิกรบนผืนแผ่นดินไทยทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติอย่าง คิดดี ทำดีมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน รู้ รัก สามัคคีและปรองดองกัน ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความแจ่มใสและจงรักภักดีต่อชาติบ้าน เมือง เพื่อให้เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริงถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 64 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2553 เทอญ

อ้างอิง : เจ้าพระยา news
09-06-2010

Free Web Hosting