วัดไตรมิตรวิทยาราม

วัดไตรมิตรวิทยาราม

วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ เลขที่  ๖๖๑ ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

วัดไตรมิตรวิทยาราม เดิมมีพื้นที่ราบลุ่ม มีลักษณะน้ำขังได้ทั่วไป ปัจจุบันนี้ได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ของวัดทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วทั้งภายในบริเวณวัด
และวัดมีเขตอุปจารวัดดังนี้

                           ทิศเหนือ                        จดกับถนนพระราม๔
                           ทิศใต้                             จดกับถนนตรีมิตร
                           ทิศตะวันออก                 จดกับซอยสุกร ๑
                           ทิศตะวันตก                    จดกับถนนเจริญกรุง

    ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์

 

วัดไตรมิตรวิทยาราม มีเนื้อที่ของวัดทั้งสิ้น ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา ปรากฎตามโฉนดที่๓๓๖๔ และมีที่สงฆ์อีก ๑ ตารางวา กับ ๑ ตารางศอก ตามโฉนดที่ ๓๕๙๑ประวัติและนามของวัด

วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นวัดโบราณสร้างเมื่อสมัยใดไม่ปรากฎหลักฐาน เดิมชื่อว่าวัดสามจีนใต้ มีคำเล่ากันว่า วัดสามจีนเดิมมีอยู่สามวัด คือ วัดสามจีนอยู่ในคลองบางอ้อด้านตรง
กันข้ามกับเทเวศร์วัดหนึ่ง วัดสามจีนเหนือ บางท่านก็ว่าอยู่ที่บางขุนพรหม บางท่านก็ว่าอยู่จังหวัดนนทบุรี สำหรับวัดที่อยู่บางขุนพรหมได้แก่ วัดสังเวชวิศยาราม ส่วนวัดที่อยู่จังหวัดนนทบุรี
นั้นได้แก่ วัดโชติการาม อำเภอเมืองนนทบุรี และวัดสามจีนใต้ ได้แก่วัดไตรมิตรวิทยาราม เหตุที่เรียกวัดสามจีน ก็เนื่องด้วยเหตุว่ามีชาวจีน ๓ คนได้ช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาจึงได้นามว่า "วัดสามจีน" วัดไตรมิตรวิทยารามก่อนการบูรณะปรับปรุงสภาพวัดไตรมิตรวิทยาราม ครั้งมีนามว่า วัดสามจีนใต้ สภาพบริเวณทั่วๆไปในบริเวณวัดนั้นเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก ดังที่ได้ปรากฎในเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงสุขลักษณะ วัดสามจีนใต้ วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ความตอนหนึ่งว่าเวลา ๑๐.๐๐ น.ผู้มาประชุมได้มาพร้อมกันแล้ว
ท่านเจ้าอาวาสขอให้นายสนิท เทวินทรภักดีพาคณะกรรมการดูสถานที่วัดนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลสามแยก อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร มีอาณาเขตติดต่อกันดังนี้
ทิศเหนือ         จดกำแพงหลังตึกแถวถนนพระราม ๔
ทิศตะวันตก    จดที่ดินพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุล จักรพงศ์ ส่วนหนึ่งแล้วต่อมาติดกำแพงหลังตึกแถวถนนกลันตัน
ทิศใต้              จดกำแพงหลังตึกถนนเจริญกรุง
ทิศตะวันออก   จดแนวคลองวัดสามจีนใต้ การก่อสร้างครั้งปรับปรุงวัด

      หลังการก่อสร้างกุฎิสงฆ์ในครั้งนั้น ได้วางผังการก่อสร้างให้กุฎิอยู่เป็นแถวเป็นแนวไม่สับสนปนเป ให้มีจำนวนห้องที่อยู่อาศัยพอทั้งพระภิกษุ สามเณร และศิษย์วัด ตลอดการะทั่งให้มีห้องน้ำห้องส้วมพร้อม และได้วางกุฎิให้เพียงพอต่อพระภิกษุ ประมาณ ๗๐-๘๐ รูปเท่านั้น ฉะนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้สร้างกุฎิ
คอนกรึตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น จำนวน ๑๔ หลัง ขึ้นแทนกุฎิที่ได้ทำการรื้อถอนไปนั้น ศาลาการเปรียญของวัดเป็นศาลาไม้ มีสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างมาก จวนจะพังมิพังแหล่ คณะกรรมการได้จัดการรื้อถอนแล้วได้สร้างศาลาการเปรียญเป็นศาลาคอนกรึต ๒ ชั้นขึ้นแทนของเก่าศาลาราย ที่ใช้เป็นโรงเรียนสอนบาลี
และนักธรรมนั้น มีสภาพเก่าคร่ำคร่าซวนเซ ก็ได้ทำการรื้อถอนออก แล้วสร้างเป็นตึกคอนกรึต ๒ ชั้นขึ้นแทน สำหรับใช้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อเล่าเรียน
บาลีและนักธรรม เตาเผาศพของเก่าได้รื้อออก แล้วสร้างเตาเผาแบบทันสมัยขึ้น

เมรุวัดไตรมิตรวิทยาราม

เมรุสร้างหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปัจจุบันถูกรื้อถอน สร้างมณฑปใหม่

การก่อสร้างโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย 

        โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยกับวัดไตรมิตรวิทยารามนั้น มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกันมานาน กล่าวได้ว่า อดึตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นบุรพาจารย์ของโรงเรียนไตรมิตร
วิทยาลัยด้วย โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย มีกำเนิดขึ้นจากดำริของพระสมุห์กล่อม เจ้าอาวาสวัดสามจีนใต้รูปที่ ๒ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร มีราชทินนามว่า พระครูวิริยานุกิจจารี  เป็นผู้จัดตั้งดังที่ได้ปรากฎในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓แผ่นที่ ๒๔ วันที่ ๑๓ กันยายน รัตรโกสินทร์ศก ๑๑๕ หน้า ๒๒๕-๒๒๖ ดังนี้ 

         ด้วย พระสมุห์กล่อม  เจ้าอธิการวัดสามจีนใต้ ผู้อุปการะ ได้รวบรวมกุลบุตรมาประชุมเล่าเรียนหนังสือไทย ตั้งเป็นโรงเรียนขึ้น ให้พระพร้อมซึ่งสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยค ๒
พระสอนผู้สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยค ๑ เป็นอาจารย์สอน เปิดโรงเรียนสอนมาตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๕๓๐) มีนักเรียนมาเล่าเรียน ๓๔ คน และบอกรายงานมาลงทะเบียนในกรมศึกษาธิการ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิตติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการมีรับสั่งให้กองไปตรวจ ได้ความตามบอกนั้นทรงอนุญาตให้
พระสมุหกล่อมเป็นผู้อุปการะให้พระพร้อมและพระสอนเป็นอาจารย์ตามประสงค์แล้ว

       ในชั้นต้นนี้ กรมศึกษาธิการได้อุดหนุนแบบเรียนให้ ๑จบตามธรรมเนียม โรงเรียนนี้นับว่าเป็นโรงเรียนมูลสามัญเชลยศักดิ์ ขึ้นในกรมศึกษาธิการอีกโรงเรียนหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งความอนุเคราะห์ของสมุห์กล่อม พระพร้อม และพระสอนนั้น ให้โรงเรียนนี้ จงตั้งอยู่สิ้นกาลนานเทอญฯ

โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย

โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย หลังปัจจุบัน

  ต่อมาเมื่อ รองอำมาตย์ตรีสนิท เทวินทรภักดี ครูใหญ่โรงเรียนมัธยมวัดสามจีน ได้ปรึกษาตกลงกับท่านเจ้าอาวาสวัดสามจีน ในครั้งนั้นว่า เห็นสมควรปรับปรุงสุขลักษณะบริเวณ
วัดและโรงเรียนในคราวเดียวกัน หลังจากที่ได้ทำการปรับปรุงพื้นที่เรียบร้อยแล้วจึงได้สร้างอาคารเรียนขึ้นเป็นอาคารตึก ๓ ชั้นเป็นตึกมีมุขยื่นและมีปีกตึกออกมาทางซ้ายของตัวอาคาร
เป็นอาคารเรียนหลังแรก ที่สร้างด้วยคอนกรีตสูงถึง ๓ ชั้น สร้างด้วยเงินของวัด จำนวน๑๕,๐๐๐ บาท และเงินงบประมาณของทางราชการอีก ๒,๕๐๐ บาท พร้อมตึกวิทยาศาสตร์ หนึ่งหลัง นับได้ว่าโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยได้มีกำเนิดจากอดีตบุรพาจารย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสามจีนใต้ โดยแท้ และท่านเจ้าอาวาสวัดรูปต่อๆมาก็ได้ให้ความอุปถัมภ์แก่
โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยทุกรูป

การเปลี่ยนนามวัด

     ใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนนามวัดสามจีนใต้มาเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม ทั้งนี้ เพื่อจะเฉลิมเกียรติคุณ ของท่านผู้แรกสร้างให้ยั่งยืนวัฒนายิ่งขึ้น และเป็นการเชิดชูอุตสาหะวิริยะของท่านผู้สร้างและคณะกรรมการปรับปรุงวัดพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถร) วัดมหาธาตุ ฯ ได้เมตตาคิดค้นนามที่เป็นมงคลมาเฉลิมเพิ่มความสง่าให้แก่วัดสามจีนใต้ โดยเปลี่ยนเป็น "วัดไตรมิตรวิทยาราม" และกรมสามัญศึกษาได้เปลี่ยนนามโรงเรียน
มัธยมวัดสามจีนใต้เป็น "โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย" ตามนามวัดที่ได้เปลี่ยนใหม่ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ 

วัดไตรมิตรวิทยาราม        เทวดาสามองค์สัญญลักษณ์ วัดไตรมิตรวิทยาราม    
  เสนาสะนะวัดไตรมิตรวิทยาราม           เทวดาสามองค์ สัญญลักษณ์วัดไตรมิตรวิทยาราม

 

ถาวรวัตถุ

     พระอุโบสถ พระอุโบสถหลังเดิม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน รูปทรงเป็นแบบไทยผสมศิลป์จึนหลังคาลดสามชั้นมีเสาหารโดยรอบ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันประดับด้วยเบญจรงค
์เป็นรูปดอกพุตตาน ซุ้มประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นลายดอก พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปองค์นี้มีศิลป์การครองจีวรเป็นแบบห่มหนึบ(มังกร)
ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน เป็นรูปภาพอดีตพระพุทธเจ้าโดยรอบ เหนือขอบหน้าต่างตอนบนระหว่างหน้าต่างและประตูเป็นรูปทศชาติ กล่าวกันว่าจิตรกรรมภาย
ในพระอุโบสถวัดสามจีนใต้กับวัดดวงแขมีลักษณะเช่นเดียวกัน ในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองมีพระนามว่า"พระพุทธทศพลญาณ" มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบว่า พระประธานวัดสามจีนใต้มีพุทธลักษณะงดงาม ได้เคยเสด็จมาทอดพระเนตรให้ประจักษ์แก่พระเนตรว่า งามสมคำเล่าลือกันหรือไม่ แม้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ก็ยังได้มาชมพระประธานของวัดสามจีนเสมอ เมื่อทรงว่างจากพระภารกิจ

พระทศพลญาณ  พระประธานในพระอุโบสถ วัดไตรมิตรวิทยาราม

พระทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ วัดไตรมิตรวิทยาราม

  ต่อมาเมื่อเกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลูกระเบิดได้ลงในที่ไม่ไกลจากพระอุโบสถเท่าไรนักแรงสั่นสะเทือนของอำนาจระเบิด ทำให้พระอุโบสถทั้งหลังยากต่อการบูรณปฎิสังขรณ์
ตกอยู่ในสภาพที่เป็นอันตรายได้ จึงได้ทำการรื้อลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังจากที่ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่แล้ว

พระอุโบสถวัดไตรมิตร
ภาพจาก www.goldenbuddha-thailand.com

พระอุโบสถหลังปัจจุบัน

    พระอุโบสถหลังปัจจุบันนี้ เป็นพระอุโบสถที่ได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงวิศาลศิลปกรรม เป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถ การก่อสร้างเป็นเฟอร์โรคอน
กรีตทรงจตุรมุข หลังคาสามชั้น มีชานรอบพระอุโบสถ บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ และ พระอุโบสถหลังใหม่นี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ประกอบการผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓

พระวิหาร เป็นอาคารหมู่ทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ลักษณะ ๒ ชั้น กว้าง ๒๔ เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระสุโขทัยไตรมิตร

วิหารหลังเดิม

วิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตร (หลังเดิม)

 

  ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารสร้างใหม่ ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น กว้าง ๑๘เมตร ยาว ๒๔ เมตร ลักษณะเป็นเพอร์โรคอนกรึต สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนแล้ว

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ ปัจจุบันถูกรื้อถอนสร้างมณฑปใหม่

    ศาลาวิสุทธิผลอุทิศ และศาลานครหลวงประกันชีวิต เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทยประยุกต์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยนายห้างกำธร วิสุทธิผล กุฎิสงฆ์จำนวน ๑๔ หลัง สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทย ๒ ชั้น ปัจจุบัน อาคารทั้งสองได้ถูกรื้อถอนแล้ว เมรุ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ กว้าง ๑๐.๕ เมตร ยาว๒๐.๕๐ เมตร โดยชาวญี่ปุ่นรับเหมาสร้าง ปัจจุบันรื้อถอนแล้ว

เมรุ

เมรุถูกรื้อถอนแล้ว

  โรงเรียนพระปริยัติกรรม เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร เดิมสร้างเป็นอาคารทรงไทย สร้างด้วยคอนกรึตเสริมเหล็กเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ต่อมาการศึกษาได้เจริญขึ้น จึงได้สร้างขึ้นใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น เป็นอาคารทรงไทยขนาด ๘ห้องเรียน เป็น ๑๒ ห้องเรียนปัจจุบันเป็นที่ศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีสำหรับภิกษุสามเณร
แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

  อาคารเรียนโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเป็นอาคารเรียนที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งได้ทำการวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๓ โดยพระเดชพระคุณ พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานในพิธี

  อาคารเรียน โรงเรียนมหาวีรานุวัตร เป็นอาคารคอนกรีต ๓ ชั้น เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เปิดทำการสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

พระพุทธรูปทองคำ

ปูชนียวัตถุ - พระพุทธรูปทองคำ

  พระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้นลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า "หลวงพ่อโม" บ้าง "หลวงพ่อวัดสามจีน" มีประชาชนมาบนบาน
กันเสมอ ๆ ด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ และได้ตรัสยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงาม
ยิ่งนัก "หลวงพ่อโม" อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เคยได้ทำพระเครืองแจกครั้งหนึ่งได้ทำเป็นรูปพระพุทธทศพลญาณ สร้างด้วยเนื้อชิน เรียกชื่อว่า หลวงพ่อโตวัดสามจีน ปรากฏว่าเป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไปว่าศักดิ์สิทธิ์นัก ปัจจุบันนี้หายากแล้ว

พระพุทธสุโขทัยไตรมิตร ประดิษฐานอยู่ที่พระมหามณฑป เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปสมัยสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปทองคำ มีชื่อว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร"

พระมหามณฑป
ขอบคุณ ภาพจาก www.goldenbuddha-thailand.com

พระมหามณฑป ที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ (พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร)

 

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

    ท่ามกลางกระแสธารแห่งอารยธรรมตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ปรากฏร่องรอยหลักฐาน ความเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาอย่างไม่ขาดสาย มรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์แห่งอารยธรรมไทยตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ดังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ซึ่งทรงตรวจสอบ
ค้นคว้าด้านโบราณคดีเกี่ยวกับ "สุโขทัย" ความว่า     "ชาติไทยเรา ไม่ใช่ชาติใหม่ และไม่ใช่ชาติที่เป็นคนป่า หรือที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า 'อันซิวิไลซ์' ชาติไทยเราได้เจริญ
รุ่งเรืองมามากแล้ว เพราะฉะนั้น ควรที่จะรู้สึกอายแก่ใจว่าในกาลปัจจุบันนี้ อย่าว่าแต่จะสู้ผู้อื่นเลย แม้แต่จะสู้คนที่เป็นต้นโคตรของเราเองก็ไม่ได้ฝีมือช่างหรือความ
อุตสาหะของคนครั้งพระร่วงดีกว่าคนสมัยนี้ปานใด ถ้าอ่านหนังสือนี้แล้ว บางทีพอรู้สึกหรือเดาได้บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าอ่านแล้ว คงจะเห็นความเพียรของคนเราเพียงไร..."

     พระราชนิพนธ์ชิ้นนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามรุ่งเรืองในอดีตโดยเฉพาะ "สุโขทัย" อาณาจักรไทย ที่ครอบคลุมดินแดนตอนเหนือในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ร่องรอยแห่งความเจริญดังกล่าว นอกจากจะพบได้จากซากเมือง และวัดวาอารามต่าง ๆ รวมทั้งศิลปวัตถุอันตกทอดมาถึงปัจจบันที่สร้างขึ้นอย่างประณีตด้วยศิลปะชั้นสูงแล้ว
ความยิ่งใหญ่แห่งอารยธรรมในอดีต ยังพบเห็นได้ชัดเจนมาก "พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร" พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์สมัยสุโขทัยอันเป็นมรดกแห่งอารยธรรม
ที่ตกทอดเป็นประจักษ์พยานถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมของสยามประเทศ

     "พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร" หรือ "หลวงพ่อทองคำ" หรือที่มีนามซึ่งปรากฏตามพระราชทินนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ว่า"พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร" ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระมหามณฑปที่วัดไตรมิตรที่ได้สร้างใหม่ที่ วัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงค์ กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย คือ อยู่ในอริยาบทนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ ปลายพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี
หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๕ นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกตุเมาฬี ๗ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว น้ำหนักประมาณ ๕ ตันครึ่ง

ประวัติความเป็นมา

     แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์ พุทธลักษณะภายนอกไม่งดงามหรือโดดเด่นจากหลักฐานที่ประกฏพบว่าเคยประดิษฐานเห็นพระประธานในพระอุโบสถ
วัดโชตินารามหรือวัดพระยาไกร มาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

     ต่อมาวัดพระยาไกรขาดคนบูรณปฏิสังขรณ์ จึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง ราว พ.ศ. ๒๔๗๔ บริษัทอีสเอเซียติก จำกัด ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ ได้ขอเช่าที่จากรัฐบาล
เข้าจัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ในบริเวณวัดร้างแห่งนี้ มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมของวัดพระยาไกรออก จนเหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่

     ในขณะนั้น "วัดสามจีน" ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ทั่วทั้งพระอาราม โดยสร้างวิหารสำหรับประดิษฐาน
พระพุทธรูปเพิ่มเติม สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะแขวงล่างเห็นว่า จะปล่อยองค์พระพุทธรูปปูนปั้นให้อยู่ที่เดิมต่อไปจะเป็นการไม่สมควร ประกอบกับวัดสามจีน
มีสถานที่กว้างขวางเหมาะสมกับการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จึงมอยให้คณะกรรมการวัดสามจีน อันประกอบด้วย พระมหาเจียม กมโลม พระมหาไสว ฐิตวีโร (พระวิสุทธาธิบดี), น.อ. หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย), ร.น. หลวงบริบาลเวชกิจ (ยู้ ลวางกูล), นายสนิท เทวินทรภักดี ร่วมกันอันเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ จากวัดพระยาไกรมาประดิษฐานยังวัดสามจีน

พระปูนปั้น พระทองคำ

 

จากพระพุทธรูปปูนปั้น สู่ "พระพุทธรูปทองคำ"

     พระพุทธรูปปูนปั้นจึงถูกอัญเชิญมาตั้งแต่นั้น โดยในขณะที่ยังบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการวัดได้ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปไว้ข้างเจดีย์เป็นการช่วคราว ในระหว่างนี้ มีผู้มาขออัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดต่าง ๆ มากมายแต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ การก่อสร้างพระอาราม พระวิหารต่าง ๆ ในวัดสามจีน ใช้เวลาเนิ่นนาม จนล่วงเลยไปถึง
๒๐ ปีในพุทธศักราช ๒๔๙๘ การบูรณะจึงเสร็จสิ้นเรียบร้อย

     เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีรมหาเถระ ป.ธ. ๗) เจ้าอาวาสซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระวีรธรรมมุนี ผู้ดำเนินการสร้างวิหารที่ประดิษฐาน
พระพุทธรูปปูนปั้นจนแล้วเสร็จ ได้เป็นแม่กองเลื่อนย้ายพระพุทธรูปูนปั้นองค์นี้ เพื่อนำขึ้นประดิษฐานยังพระวิหารซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ การเคลื่อนย้ายเป็นไป
ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่ และหนักมาก ต้องใช้ปั้นจั่นยกอยงค์พระพุทธรูป ในขณะทำการยกนั้น ปรากฏว่า ลวดสลิงที่ยึดองค์พระเกิดขาด เพราะทานน้ำหนัก
องค์พระไม่ไหว องค์พระพุทธรูปจึงตกลงกระแทกบนพื้นอย่างแรง พอดีกับเวลานั้น เป็นเวลาใกล้ค่ำ และฝนก็บังเอิญตกอย่างหนัก การอัญเชิญพระพุทธรูปในวันนั้น จึงเป็นอันต้องหยุดชะงักลง

     ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาส ได้มาตรวจดูองค์พระ เพื่อหาทางอัญเชิญขึ้นประดิษฐานใหม่ ก็ได้พบเห็นรอยแตกที่พระอุระ และเห็นรักที่ฉาบผิวองค์พระด้านใน เมื่อแกะรักออก ก็ได้พบเนื้อทองคำบริสุทธิ์งามจับตาอยู่ชั้นในสุด ท่านเจ้าอาวาสจึงสั่งการระดมผู้คนช่วยกันกะเทาะปูน และลอกรักออกหมดทั้งองค์ ความงดงามแห่งเนื้อทองบริสุทธิ์ขององค์พระปฏิมา
จึงปรากฏให้เห็นพร้อมพุทธลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สกุลช่างสุโขทัย ที่งดงามจับตาจับใจผู้พบเห็นยิ่งนัก

     ความยากลำบากในการเลื่อนย้ายหมดสิ้นลง เมื่อมีการคุ้ยดินใต้ฐานทับเกษตรออก และพบกุญแจแลสำหรับถอดองค์พระออกเป็นส่วน ๆ ได้ ๙ ส่วนเพื่อสะดวกต่อการอัญเชิญขึ้น
ประดิษฐานยังพระวิหาร จึงดำเนินการถอดองค์พระออกแต่เพียง ๔ส่วน คือ ส่วนพระศอ ส่วนพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง และส่วนพระนาภี ทำให้สามารถอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำองค์น
ี้ขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้โดยราบรื่น

พระทองคำ

พระพุทธรูปทองคำ

       ที่สุดของไทย ที่สุดของโลก

       การค้นพบพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยของวัดไตรมิตรวิทยารามในครั้งกระนั้น ได้เป็นข่าวสำคัญอย่างอึกกะทึกครึกโครมไปทั่วทั้งประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ หลายฉบับ ต่างก็พากันประโคมข่าวกันอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความปลื้มปีติยินดีของพุทธศาสนิกชนทั่วหน้ามีการตรวจสอบและประเมินเนื้อทองขององค์พระพุทธรูป ซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์ เรียกว่า
ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา (มาตราทองคำของโบราณ ตั้งไว้ตั้งแต่ทองเนื้อสี่ คือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๔ บาท ทองเนื้อเจ็ดคือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๗ บาท ซึ่งเป็นทองที่มีค่า
ของเนื้อทองรองจากทองนพคุณ หรือทองเนื้อเก้า ซึ่งทองเนื้อเก้าจะเริ่มพบที่บางตะพานในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เรียกกันว่าทองคำบางตะพาน ส่วนคำว่าสองขาหมายถึง ๒ สลึง) มีน้ำหนัก
กว่า ๕ ตันคิดเป็นน้ำหนักทองคำ ๒๕,๐๐๐ ปอนด์ หรือคิดเป็นมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๘) ๑๔ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๒๙๔.๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยเก้าสิบสี่ล้านบาท) อันเป็นราคาทองคำที่ถูกประเมินในครั้งแรก

     พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร นับเป็น "พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก" หนังสือกินเนสบุ๊ค ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ได้ทำการประเมินค่าอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนค.ศ. ๒๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) และบันทึกไว้ว่า เป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำสุงถึง
๒๑.๑ ล้านปอนด์ แล้วบันทึกลงเป็นข้อความว่า

Highest intrinsie value is the 15th-century gold Buddha in Wat trimitr Temple in Bangkok, Thailand. It is 3-04 m 10 ft tall and weights estimated 5 1/2 tonnes. At the April 1990 price of $ 227 per fine ounce, its intrinsic worth was $ 21.1 million.

The gold under the plaster exterior was found only in 1954.

     ข้อความที่ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ กินเนสบุ๊ก ออฟ เรคคอร์ด

ก่อนจะมาเป็น "พระพุทธรูปทองคำ"

     องค์พระพุทธรูปทองคำที่ถูกค้นพบ เป็นพุทธศิลปะสุโขทัยที่งดงามมาก ผู้เชี่ยวชาญทางพุทธปฏิมากรรมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีความงดงามถึงจุดสุดยอด
ในกระบวนการฝีมือสกุลช่างสุโขทัย ซึ่งในการจัดแบ่งศิลปะพระพุทธรูปสุโขทัยของ เอ.บี.กริสโวลด์ (A.B. Giswold) นั้น ได้แบ่งศิลปะออก เป็น ๓ หมวด คือ
1 ก่อนคลาสสิก
2 คลาสสิกบริบูรณ์ และ
3 หลังคลาสสิก

  พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตรนี้ นับเป็นศิลปะแบบสลาสสิกบริบูรณ์ อันเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดของสกุลช่างสุโขทัย มีอายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙

     ทองคำนับเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในสังคมสยามแต่โบราณ ในสมัยสุโขทัยนั้นจากข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่า มีแหล่งแร่ทองคำบริเวณลำห้วยแม่บ่อย เขตอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ซึ่งอยู่ท่างจากเมืองศรีสัชชนาลัยเพียง ๒๕ กิโลเมตรมีการค้นพบเหมืองแร่โบราณในบริเวณดังกล่าว แม้จะมีสายแร่ทองคำเนื้อทองคำเนื้อธรรมชาติไม่มากนัก แต่นับเป็นสิ่งที่ยืน
ยันถึงการนำทองคำมาใช้ในสังคมสุโขทัยได้อย่างชัดเจน

     ในศิลาจารึกหลักที่ ๕ วัดป่ามะม่วง กล่าวถึง การบำเพ็ญบุญของพระมหาธรรมราชา โดยทรง "กระยาทานคาบนั้นทองหมื่นหนึ่ง เงินหมื่นหนึ่ง เบี้ยสิบล้าน..." สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทองคำในสมัยนั้นในกลุ่มชนชั้นสูงโดยเฉพาะกษัตริย์ มักจะนิยมสร้างพระพุทธรูป หรือโบราณวัตถุที่สำคัญทางพุทธศาสนาจากทองคำบริสุทธิ์โดยทรง เป็นศุนย์กลางการดำเนินการ เช่น การสร้างสำเภาทองลอยพระธาตุ ดังความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารหนือ ความว่า

"...เชิญพระธาตุมาถึงเมืองแล้ว พระธรรมราชาเจ้าจึงป่าวร้องแก่คนทั้งหลายผู้ศรัทธา ก็เอาทองมาประมวลกันได้ ๒,๕๐๐ ตำลึงทอง ให้ช่างตีดเป็นเภาเภตรา จึงใส่พระธาตุพระพุทธเจ้าลอยอยู่ในน้ำบ่อ..."

     ในการสร้างพระพุทธรูปสำคัญ สังคมสุโขทัย จะใช้ลักษณะดังกล่าว และพระมหากษัตริย์ จะทรงเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างและใช้วิธี "ป่าวร้องแก่คนทั้งหลายผู้ศรัทธา" หรือให้หัวเมืองภายใต้พระราชอำนาจส่งมอบวัตถุดิบในการจัดสร้างโดยมี "ช่างหลวง" เป็นผู้ดำเนินการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารเหนือ ความว่า

" พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงรำพึงในพระทัย จะใคร่สร้างพระพุทธรูปให้แล้วด้วยสัมฤทธิ์ ครั้นพระองค์รำพึงแล้วจึงให้หาช่างได้ บาพิศณุคนหนึ่ง บาพรหมคนหนึ่ง บาธรรมราชคนหนึ่ง บาราชกุศลคนหนึ่ง ได้ช่างมาแต่เมืองสัชชนาลัย ๕ คน มาแต่หริภุญไชยคนหนึ่ง เป็นช่าง ๖ คน จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งช่างทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายให้ชวนกันมารักษาศีล ๕ ประการ อย่าได้ขาด ครั้นสั่งช่างแล้วจึงพระราชทานรางวัลแก่ไพร่ทั้งหลาย ให้ขนดินแลแกลบให้แก่ช่าง ช่างจึงประสมดินปั้นเป็นพระพุทธเจ้าสามรูปตามมีพระราชโองการตรัสสั่งนั้น ให้เหมือน
พิมพ์เดียวแลใหญ่น้อยเท่ากัน ครั้นเป็นเบ้าคุมพิมพ์แล้วท้าวพระยาทั้งหลายก็นำเอาทองสัมฤทธิ์มาถวายแก่พระองค์เจ้า ชวนกันหบ่อพระพุทธรูปเป็นอันมาก แลช่างหล่อชวนกันกินบวชเจ็ดวัน ก็ทำพลีกรรมแก่เทวดาทั้งเจ็ดทิศ ครั้นได้ฤกษ์ดีจึงเอาพิมพ์เข้าเตา..."

     กรรมวิธีการหล่อพระพุทธรูปในสมัยโบราณนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น "ฝีมือช่างราษฎร์" กับ "ฝีมือช่างหลวง" ฝีมือช่างราษฎร์จะเป็นกลุ่มของชาวบ้านที่มีศรัทธาจะสร้างพระพุทธปฏิมากรรม ส่วนใหญ่มิได้เคร่งครัดในส่วนผสมของโลหะเท่าใดนัก เมื่อทราบข่าวจะมีการหลอมหล่อพระพุทธรูปมักจะนำโลหะมีค่าจากบ้านเรือนของตนมาเป็นวัตถุดิบ ร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูป
ช่างผู้ซึ่งดำเนินการจะนำหุ่นขี้ผึ้งที่ปั้นไว้ตั้งเอาหัวลง เมื่อเทน้ำโลหะลงไปธาตุที่หนักที่สุด ซึ่งได้แก่ทองคำจะลงไปตกตะกอนอยู่ในส่วนล่างสุด คือ ส่วนเศียรพระพุทธรูป ดังนั้น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ส่วนใหญ่ จะมีพระเศียรเปล่งปลั่งสุกใสกว่าส่วนอื่น

     ส่วนการหล่อโดยฝีมือช่างหลวงนั้น จะเน้นอัตราส่วนผสมของโลหะเป็นพิเศษ กรรมวิธีโดยทั่วไปคล้ายคลึงกัน หากเพิ่มความละเอียดประณี่ต โดยเริ่มจากการ "ขึ้นหุ่น" หรือ "ปั้นหุ่น" ชั้นในขององค์พระด้วยดินเหนียวผสมทราย แกลบ ตามส่วนดินที่มีมันิยมใช้เรียกว่า "ดินขี้งูเหลือม" มีสีเหลือง โดยกำหนดสัดส่วนไว้สำหรับหุ้มขี้ผึ้งอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นใช้ขี้ผึ้งผสม
กับชันเพื่อให้แข็งตัว มาตีแผ่ออกเป็นแผ่นหนาเท่ากับเสื้อทองที่ต้องการนำแผ่นชี้ผึ้งหุ้มรูปหุ่นให้หมดทั้งองค์ ลงมือปั้นแต่ขี้ผึ้งให้ประณีต ฝีมือช่างจะแสดงออกมาจากการปั้นขี้ผึ้ง

     หลังจากนั้นจะมีการติด "สายชนวนขี้ผึ้ง" เพื่อช่วยให้ทองแล่นได้ตลอด โดยต้องคำนึถึงช่องว่างที่จะเป็นส่วนให้อากาศภายในระบายออกได้ทันเมื่อเททอง ก่อนที่จะนำเอาขี้วัวละเอียดผสมกับดินนวลทาลงบนหุ่นขี้ผึ้งเพื่อให้ผิวทองเรียบงาม หลังจากนั้นใช้ดินอ่อนฉาบรักษาดินขี้วัวไว้แล้วใช้ดินที่ปั้นหุ่นองค์พระชั้นใน พอกทับอีกชั้นหนึ่ง

     จากนั้นช่างผู้ทำการหล่อพระพุทธรูป จะทำการตรึงหมุดเหล็ก หรือ "ทวย" คือ การแทงเหล็กแหลมเข้าไปในหุ่นขี้ผึ้งให้ทะลุเข้าไปถึงชั้นใน เพื่อยึดโครงสร้างองค์พระให้แข็งแรง มิให้แตกร้าวขณะเททอง ก่อนที่จะใช้เหล็กมัดเป็นโครงหุ้มดินพอกไว้อีกชั้นหนึ่ง ที่เรียกว่า "รัดปลอก"

     ต่อจากนั้นจะทำการพลิกเศียรพระพุทธรูปลงดิน เอาฐานองค์พระขึ้น โดยใช้นั่งร้าน ยกพื้นไม้ให้รอบสำหรับเดินเททอง ค้ำยันหุ่นด้วยเหล็กให้แน่นหนา แล้วจึงเริ่มสุมไฟเผาหุ่นไล่ขี้ผึ้ง
รอบองค์พระ ในขณะเดียวกันก็เริ่ม "สุมทอง" ที่เตรียมไว้พร้อมกันไปด้วยโดยมีเบ้าหลอมต่างหาก

     เมื่อขี้ผึ้งละลาย หรือที่เรียกกันว่า "สำรอก" จึงเริ่มเททอง น้ำทองจะไหลลงไปแทนที่ขี้ผึ้งรอบองค์พระ โดยเดินเททองบนนั่งร้านกรอกลงไปตามสายชนวนขี้ผึ้งรอบองค์พระ โดยเดินเททองบนนั่งร้านกรอกลงไปตามสายชนวนขี้ผึ้งติดเอาไว้ก่อนแล้วนั้นช่องหรือสายชนวนนี้จะเปรียบเสมือนท่อน้ำทองให้ไหลไปทั่วองค์พระปฏิมา

     เมื่อเททองสมบูรณ์แล้ว จะปล่อยให้หุ่นพิมพ์เย็นลงแล้วจึงแกะดินที่ปั้นเป็นหุ่นออกให้หมด ยกองค์พระให้ตั้งขึ้นเริ่มขัดถูผิวให้เรียบตัดหมุดหรือ "ทวย" รวมทั้งสายชนวนออก หากมีตำหนิก็จะมีการนำเศษทองที่เหลือตอกย้ำให้เสมอกัน หากปรากฏเป็นช่องว่างมากก็เททองเพิ่มให้เต็มที่ เรียกว่า "เทดิบ"บางครั้งจะใช้ยาซัดโลหะตามกรรมวิธีโบราณ
ผสมลงในเขาหลอมด้วยเพื่อซัดเศษโลหะออกจากน้ำทอง ซึ่งจะทำให้ได้เนื้อโลหะบริสุทธิ์

     ในบางครั้งจะมีการลงรักปิดทองจนทั่วองค์พระ โดยใช้ "รักสมุก" คือรักผสมผงถ่านบดละเอียด ป้ายรักสมุกเข้ากับองค์พระ
ให้ทั่วและเรียบ ทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนขัดด้วยหินละเอียด จากนั้นชะโลมด้วย "รักน้ำเกลี้ยง" และใช้ "รักเช็ด" ทาองค์พระเพื่อปิด
ทองอีกครั้งหนึ่ง

     พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปที่เกิดจากการสร้างในลักษณะดังกล่าวโดยฝีมือ "ช่างหลวง" ที่มีฝีมือการหล่อพระถึงขั้นสุดยอด ทำให้ได้องค์พระซึ่งมีพุทธลักษณะงดงาม ทองคำแล่นบริบูรณ์ตลอดองค์ โดยใช้เนื้อทองคำธรรมชาติบริสุทธิ์ที่เรียกกันว่า ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา และแสดงให้เห็นถึงความแยบยล สามารถถอดองค์พระออกเป็นส่วน ๆ
ได้ถึง ๙ ส่วน โดยมีกุญแจกลเป็นเครื่องมือในการถอดประกอบ นับเป็นฝีมือช่างชิ้นเอกอันยากจะหาฝีมือสกุลช่างไดทัดเทียมได้

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

     จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร เดิมเคยประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย โดยมีข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ กล่าวถึง "พระพุทธรูปทอง" ความว่า"กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม..."

     กลางเมืองสุโขทัยที่ปรากฏในจารึก หมายถึงวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและสังคมของสุโขทัยในอดีต โดยเฉพาะศาสนา มีความรุ่งเรืองมาก ในสมัยพระธรรมราชาลิไท ซึ่งนักวิชาการ ในปัจจุบันสันนิษฐานว่า เป็นผู้แต่งศิลาจารีกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒

     จากข้อความในศิลาจารึกซึ่งสันนิษฐานว่า เขียนขึ้นหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น วัดมหาธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ มีพระพุทธรูปทอง พระอัฏฐารส หรือพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ และพระพุทธรูปต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ความว่า

"...ตรวจดูคำจารึกหลักศิลาของพระเจ้ารามคำแหง ...ดู ก็น่าจะสันนิษฐานว่า กล่าวถึง วัดมหาธาตุนี้ "พิหารมีพระพุทธรูปทอง"นั้นน่าจะเป็นวิหารหลวงซึ่งประดิษฐานพระศรีศากยมุนี..."

     พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปองค์ประธานในวิหารวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ยังวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งวิหารดังกล่าวเป็นวิหารหลวงเรียกว่าวิหารเก้าห้อง มีเสาศิลาเหลี่ยมขนาดใหญ่ค้ำเครื่องบน ซึ่งปัจจุบันปรักหักพังหมดแล้ว หากพิจารณาสภาพที่ปรากฏประกอบศิลาจารึกที่ ๑ จะพบแท่นรองพระพุทธรูปนอกเหนือจากองค์ประธาน ลดหลั่นกันไป จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธรูป
ทองที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ นั้น น่าจะเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ มากกว่าจะเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ซึ่งพระพุทธรูปทองคำดังกล่าว ก็คือ พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร ในปัจจุบันนั่นเอง

     นอกจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ แล้ว ยังมีหลักฐานที่กล่าวถึงพระพุทธรูปทองคำในสมัยสุโขทัยอีก เช่น ในศิลาจารึกบางหลักกล่าวการสร้างพระพุทธรูปทอง โดยพระมหาธรรมราชาลิไท หรือ ในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงด้านที่ ๓ กล่าวถึงการออกผนวชของพระองค์ ซึ่งประกอบพระราชพิธีต่อหน้าพระพุทธรูปทองคำ ดังความว่า"...พระยาศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราชหากสมาทานทศศีลเป็นดาบส..หน้าพระพุทธรูปทองอันประดิษฐานไว้เหนือราชมณเฑียรอันตนแต่งเมื่อจัก ศีลนั้น พระยาศรีสุริยะพงศ์ราม(มหา) ธรรมราชาธิราชจึงจักยืนยอมือนบพระพุทธทองนบทั้งพระปิฎกไตร..."

     จากหลักฐานที่ปรากฏ อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ความประณีตของพุทธศิลปะ ความแยบยล
ของส่วนประกอบที่ทำเป็นกุญแจกล ความทรงคุณค่ามหาศาลของเนื้อทองคำบริสุทธิ์ เป็นสิ่งซึ่งยากจะหาผู้ใดทำขึ้นได้ นอกจากพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ซึ่งมีพระบรมโพธิสมภาร
อันยิ่งใหญ่จึงจะสามารถหล่อสร้างเป็นองค์พระปฏิมาที่ประเสริฐล้ำเลิศเช่นนี้ได้สำเร็จ

สมเด็จย่าและพระพี่นาง

สมเด็จย่าและพระพี่นางได้เสด็จมาสักการะพระทองคำ

     องค์พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร ถูกหุ้มห่ออยู่ในปูนเป็นระยะเวลายาวนาน อาจกล่าวได้ว่า ผู้คนสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อน พ.ศ. ๒๔๙๘ มิได้ทราบเลยว่า ภายในพระพุทธรูป
ปูนปั้นขนาดใหญ่ ได้ซุกซ่อนพุทธปฏิมาอันงามลล้ำเลิศ และทรงคุณค่ามหาศาล

     การพอกปูนปิดองค์พระสำคัญไว้ เป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของผู้คนในสังคมไทยสมัยก่อนที่ต้องการพิทักษ์ปกป้ององค์พระพุทธรูป และพุทธศาสนา ไว้จากภัยอันตรายต่าง ๆ ซึ่งจะพบเห็นชัดเจนในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ที่พม่าได้สุมไฟลอกเอาทองจากองค์พระศรีสรรเพชญไปจนหมดสิ้น ผู้คนได้พยายามปกปิดหรือเคลื่นย้ายองค์พระสำคัญ ๆ หลายต่อ
หลายองค์ จนเกิดเป็นตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ ที่ชาวบ้านช่วยกันนำองค์พระใส่แพไม้ไผ่ อพยพหลบหลีกข้าศึก

      สำหรับ "หลวงพ่อทองคำ" องค์นี้ มีข้อสันนิษฐานว่า การพอกปูนปิดองค์พระพุทธรูปคงจะกระทำขึ้นก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ และอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า
ในราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับ รวมทั้งเอกสารสมัยอยุธยาไม่มีข้อความที่กล่าวถึง พระพุทธรูปทองคำองค์นี้เลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การพอกปูนปิดองค์พระอาจกระทำมาตั้งแต่ครั้ง
สุโขทัยเริ่มถูกครอบงำจากอำนาจกรุงศรีอยุธยา และเสื่อมอำนาจลงอย่างสิ้นเชิงในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงเป็นไปได้ที่คนสมัยกรุงศรีอยุธยาอาจพบเห็นเพียงองค์พระปูนปั้น
ประดิษฐานอยู่ในวัดมหาธาตุ สุโขทัย เรื่อยมา

     จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นสมัยที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ มายังกรุงเทพมหานครมากกว่า ๑,๒๔๘ องค์ (หนึ่งพันสองร้อยสี่สิบแปดองค์) พระพุทธรูปปูนปั้นที่หุ้มองค์หลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตรไว้ คงจะถูกอัญเชิญมาในคราวเดียวกันนี้ ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี
พระประธานวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย มาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม และมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆไว้ ณ พระระเบียง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นในพ.ศ. ๒๓๔๔ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยไตรมิตร ในลักษณะการปูนปั้นปิดองค์พระ คงจะประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ ก่อนที่
จะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระยาไกร ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จย่าพิจารณาพระเกตุมาลา

สมเด็จย่าทรงพิจารณาพระเกตุมาลาของหลวงพ่อทองคำ

พระพุทธรูปทองคำ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ

     ในปัจจุบัน พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือเรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า "หลวงพ่อทองคำ" ประดิษฐานอยู่ ณ มหามณฑป ที่สร้างใหม่ ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม เลขที่ ๖๖๑ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่พากันหลั่งไหลกันเข้ามาชมความ
งดงามแห่งองค์พระปฏิมาที่ทำจากเนื้อทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อันประเมินค่ามิได้

     นับเป็นความภาคภูมใจของชาวไทยทั้งประเทศ ต่อมรดกแห่งอารยธรรมไทยที่ยิ่งใหญ่งดงาม อันเป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งโรจน์แห่งพุทธศิลปะ ฝีมือช่าง และพลังแห่งศรัทธา
ในบวรพุทธศาสนา ที่สืบเนื่องเรื่อยมาจากอดีตจวบปุจจุบัน และเรื่อยไปยังอนาคตกาล ฯ........

 

จบ

พระมหามณฑป

มหามณฑปที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ

 

 

<<กลับหน้าแรก>>                                                                                                   <<top>>

<<อ่านประวัติพระทอง>>

เข้าสู่หน้า กระดานบอร์ด

                 

Free Web Hosting